อาหารญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยม[แก้]
อาหารจานหลัก (主食 shushoku)[แก้]
ข้าว (御飯 gohan)[แก้]
ตั้งแต่ชาวญี่ปุ่นรู้จักการทำนาเมื่อ 2,000 พันปีที่แล้ว ข้าว ก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น ความสำคัญของข้าวต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่น สะท้อนได้จากในอดีต ข้าวถูกใช้เหมือนเงินตราในการแลกเปลี่ยนสินค้าและเครื่องแสดงความมั่งคั่ง คำว่าข้าว ในภาษาญี่ปุ่น คือ โกะฮัง (御飯 gohan) และ เมะชิ (飯 meshi) (นิยมใช้เฉพาะผู้ชาย) เมื่อจะบอกว่ารับประทานอาหาร ชาวญี่ปุ่นจะบอกว่ากินข้าว ซึ่งหมายถึงมื้ออาหารนั่นเอง เช่น 朝ご飯 (asagohan) แปลตามตัวได้ว่า ข้าวเช้า หรือหมายถึง อาหารเช้า
ข้าวญี่ปุ่นมีเมล็ดสั้น และเมื่อสุกแล้วจะเหนียวเล็กน้อย ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานข้าวขาว (白米 hakumai) คือข้าวที่ถูกขัดสีจะไม่เหลือเยื่อหุ้มเมล็ดอยู่เลย ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เชื่อว่าข้าวกล้อง (玄米 genmai) หรือข้าวที่ยังมีเยื่อกหุ้มเมล็ดติดอยู่นั้นอร่อยน้อยกว่า แต่ข้าวกล้องก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้ข้าวธรรมดาแล้ว ชาวญี่ปุ่นยังนิยมรับประทานโมจิ (餅 mochi) ซึ่งทำจากข้าวเหนียว นำไปทำให้สุกและทุบจนเหนียวเป็นก้อน นำไปปรุงได้ทั้งของคาว (ใส่ซุป) และของหวาน (ปิ้งรับประทานกับซอสหวาน หรือกับถั่วแดงกวน)
ข้าวยังสามารถนำประกอบอาหารต่างๆได้อีกหลายชนิด เช่น ซูชิ (寿司 sushi) ดมบุริ (丼 donburi) โจ๊ก (お粥 okayu) เซ็มเบ (煎餅 senbei) วะงะชิ (和菓子 wagashi) และสาเก (酒 sake) เป็นต้น
อาหารเส้น (麺類 men-rui)[แก้]
อาหารเส้นอาจรับประทานเป็นอาหารจานเดียว จัดสำรับแทนข้าว หรือจัดคู่กับข้าวเลยก็ได้ อาหารเส้นที่เป็นที่รู้จักกันดี สามารถรับประทานแบบร้อนในน้ำซุป หรือแบบเย็นจุ่มซอสก็ได้
ขนมปัง (パン pan)[แก้]
ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมการรับประทานขนมปังมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นพัฒนาขนมปังจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และนิยมรับประทานกันโดยทั่วไป คำว่าขนมปังในภาษาญี่ปุ่นคือ พัง (ญี่ปุ่น: パン pan ?) ซึ่งมาจากภาษาโปรตุเกส
กับข้าว (おかず okazu)[แก้]
กับข้าว (おかず okazu) ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันทั่วไป มีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น
- อาหารต้มหรือตุ๋น (煮物 nimono)
- อาหารผัด (炒め物 itamemono)
- อาหารทอด (揚げ物 agemono)
- อาหารย่าง หรือทอดบนกระทะแบน (焼き物 yakimono)
- อาหารนึ่ง (蒸し物 mushimono)
- ซะชิมิ (刺身 sashimi)
- ซุป (吸い物 หรือ 汁物 suimono หรือ shirumono)
- อาหารหมักดอง หรือยำ (漬け物 หรือ 和え物 หรือ 酢の物 tsukemono หรือ aemono หรือ sunomono)
ขนมหวาน (お菓子 okashi) และของทานเล่น (お八つ oyatsu)[แก้]
- วะงะชิ (和菓子 wagashi) : ขนมหวานแบบญี่ปุ่น
- ดะงะชิ (駄菓子 dagashi) : ขนมหวานแบบญี่ปุ่นโบราณ
- โยงะชิ (洋菓子 yōgashi) : ขนมหวานแบบตะวันตก
- คะชิปัง (菓子パン kashi pan) : ขนมปังแบบหวาน
โยโชะกุ (อาหารแบบตะวันตก)[แก้]
ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันบริโภคอาหารแบบตะวันตกกันอย่างแพร่หลาย อาหารแบบตะวันตกหลายชนิดถูกคิดค้นขึ้นในระหว่างช่วงสิ้นสุดการปิดประเทศ หรือซะโกะกุ และช่วงต้นของการปฏิรูปสมัยเมจิเมื่อค.ศ. 1868 กระแสวัฒนธรรมต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโลกตะวันตกได้หลั่งไหลเข้าสู่ญี่ปุ่น และมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นในขณะนั้นด้วย ภัตตาคารในหัวเมืองต่างๆเริ่มเสิร์ฟอาหารตะวันตก โดยเรียกอาหารนั้นว่า โยโชะกุ (洋食 yōshoku) ซึ่งย่อมาจากคำว่าอาหารตะวันตก (西洋食 seiyōshoku) และเรียกภัตตาคารที่ขายอาหารตะวันตกว่า ยูโชะกุยะ (洋食屋 yōshokuya) หรือภัตตาคารอาหารตะวันตก
โยโชะกุจากเมื่อครั้งแรกเริ่มจนถึงปัจจุบันได้รับการประยุกต์ให้เข้ากับชาวญี่ปุ่นจนถือว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ชาวญี่ปุ่นบริโภคโยโชะกุอย่างมากในชีวิตประจำวัน ทั้งที่ขายในภัตตาคารและทำรับประทานกันเองในครอบครัว โยโชะกุหลายชนิดนิยมรับประทานกับข้าวและซุปมิโสะ และรับประทานด้วยตะเกียบ อย่างไรก็ตาม ชาวญี่ปุ่นยังคงแยกอาหารประเภทนี้ว่าเป็นอาหารแบบตะวันตก หรือโยโชะกุ และเรียกอาหารแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมว่า วะโชะกุ (和食 washoku)
โยโชะกุที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เช่น แกงกะหรี่ญี่ปุ่น (カレー karē) ทงคัตสึ (豚カツ tonkatsu) แฮมเบอร์เกอร์ (ハンバーグ hanbāgu) โคร็อกเกะ (コロッケ korokke) โอะมุไรซึ (オムライス omu-raisu) หรือข้าวผัดห่อไข่ และนะโปริตัน (ナポリタン naporitan) หรือสปาเกตตีผัดซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น