วัฒนธรรมการกินเเบบชาวญี่ปุ่น

วัฒนธรรมการกินแบบชาวญี่ปุ่น


                              


     ถ้าเอ่ยถึงชาวญี่ปุ่นแล้ว ใครๆก็ต้องยอมรับว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์   นุ่มนวลละมุนละไมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมด้านการกินชาวญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลเรื่องอาหารการกินจากชนชาติเพื่อนบ้าน ทั้งจากเกาหลีและจีนมาเป็นเวลานานนับพันปี ได้เรียนรู้วิธีปลูกข้าวจากเกาหลี และนำเข้าข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์จากจีน ชาวญี่ปุ่นรู้จักทำเส้นอูด้งเวอร์ชันแรกเริ่มและซีอิ๊วญี่ปุ่นที่เรียกว่าโชยุ ตั้งแต่ 300 ปีก่อนที่จะรับศาสนาพุทธเข้าประเทศเสียอีกเมื่อมีการติดต่อกับชาวตะวันตก ชาวญี่ปุ่นก็ได้รับวัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินอีกด้วย ตัวอย่างเช่นชาวโปรตุเกสนำวิธีการทอดด้วยน้ำมันเข้ามาตั้งแต่ในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศเมื่อราว 400 ปีก่อน ทำให้พวกเราได้ลิ้มลองเทมปุระจนทุกวันนี้แต่สิ่งสำคัญสุดก็คือการที่ชาวญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมการกินจากชาติอื่นเข้ามาแล้วนำมาหล่อหลอมประยุกต์ให้กลายเป็นวัฒนธรรมของตนเองอย่างมีเอกลักษณ์ อีกทั้งมีการพัฒนาตามแนวทางของตนเองจนมีความแตกต่างไม่เหมือนชาติไหนอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย นช่วงที่มีการปิดประเทศ ศิลปะการกินอาหารแบบไคเซกิ ที่มีการจัดแต่งหน้าตาอาหารที่ทยอยเสิร์ฟมาทีละจาน เรียกว่ากินอร่อยอย่างเดียวไม่พอต้องสวยด้วย ก็เริ่มพัฒนาในยุคนี้แหละ

     ดังนั้นเป็นการดีที่พวกเราชาวไทยน่าที่จะเรียนรู้มารยาทและธรรมเนียมการกินอาหารญี่ปุ่นไว้บ้าง ซึ่งตามปกติในยามที่กินข้าวกับเพื่อนๆตามร้านญี่ปุ่นที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ก็ไม่น่าห่วงอะไรหรอก จะกินอย่างไรก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าท่านใดมีธุรกิจที่จะต้องร่วมรับประทานอาหารกับชาวญี่ปุ่น หรือมีโอกาสไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัย ที่กลายเป็นประเทศยอดฮิตโดนใจติดอันดับของนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเสียแล้ว น่าที่จะศึกษามารยาทไว้บ้าง ตามคำพังเพยที่ว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตามนะจ๊ะ อาหารญี่ปุ่นที่คนไทยนิยมชมชอบเอามากๆก็คืออาหารจำพวกเส้น ไม่ว่าจะเป็น โซบะ อูด้ง ราเมง(ราเมน) โปรดจำให้ขึ้นใจเลยว่าเวลาไปชิมบะหมี่ญี่ปุ่นในร้านญี่ปุ่นแท้ๆ ท่ามกลางชาวญี่ปุ่น กรุณาส่งเสียงซู้ดซ้าดเวลาสูดเส้นเข้าปากด้วย ยิ่งดังยิ่งดี ตอนที่คุณชายถนัดศรีพาปิ่นโตเถาเล็กไปเที่ยวเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน จำได้ว่าเราเข้าไปกินร้านบะหมี่ที่คุณชายตั้งฉายาให้ว่า”เปิดตูดโภชนา” เพราะเป็นร้านประเภทแผงลอยข้างทาง เวลากินต้องก้มผ่านม่านผ้าเข้าไปนั่ง ส่วนด้านหลังโผล่ออกมานอกร้านแค่ช่วงบั้นท้าย ปิ่นโตเถาเล็กส่งเสียงดังมากเวลาดูดเส้นด้วยความเอร็ดอร่อย เจ้าของร้านถึงกับชะโงกหน้ามาดูใกล้ๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เพราะนี่ถือเป็นการแสดง  กิริยาว่าของเขาอร่อยเยี่ยมยอดเสียจริง  


             

 
      ในทางกลับกันเพื่อนร่วมห้องสมัยเรียนที่เมืองนอกของปิ่นโตเถาเล็ก มีเพื่อนสนิทเป็นชาวญี่ปุ่น มีโอกาสแวะไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนของเพื่อนที่โตเกียว เพื่อนผมคนนี้เป็นคนเรียบร้อย เวลากินโซบะจะไม่ส่งเสียงดังเลยแม้แต่น้อย จนกระทั่งเจ้าของร้านทนไม่ได้ต้องเดินเข้ามาถาม(ผ่านเพื่อนชาวญี่ปุ่น)ว่า วันนี้เขาทำโซบะได้ไม่อร่อยหรือเปล่า ถึงได้เงียบเสียงเชียว จนต้องอธิบายให้กระจ่างว่ามารยาทชาวไทยเวลากินอาหารต้องเงียบเสียงเข้าไว้ พี่แกจึงเข้าใจและยิ้มออกได้ นอกจากบะหมี่แล้ว เด็กรุ่นใหม่ยังชอบกินซูชิหรือข้าวปั้นหน้าต่างๆกันมาก นี่ถ้าเป็นสมัยตอนที่ปิ่นโตเถาเล็กยังเด็กๆแทบไม่มีใครชอบกินปลาดิบ(ซาชิมิ)หรือข้าวปั้นกันเลย การกินซูชิที่ถูกต้องไม่ยากเลย ถ้าใช้ตะเกียบไม่คล่องให้ใช้มือจับข้าวปั้นได้ และให้เอาด้านบนที่เป็นหน้าซูชิจิ้มกับน้ำจิ้มโชยุ(ซีอิ๊วญี่ปุ่น) ระวังไม่ให้ข้าวแตกออกมาเป็นเม็ดๆลงไปในโชยุ ของคู่กับข้าวปั้นและปลาดิบคือวาซาบิสีเขียวๆที่กินแล้วฉุนขึ้นจมูก จะบอกว่าคนญี่ปุ่นเวลาเขากินวาซาบิ จะไม่ละลายวาซาบิในโชยุหรอกนะจ๊ะ ถ้าอยากจิ้มเพิ่มให้ป้ายบนซูชิแทน นอกจากนี้บางร้านดีๆมีระดับในประเทศญี่ปุ่น เขาจะไม่ใช้วาซาบิที่บีบจากหลอด แต่จะนำวาซาบิสดๆมาทั้งต้นแล้วให้เราฝนกับที่ขูดที่ทำจากหนังปลาฉลามเอง ปิ่นโตเถาเล็กเคยลองชิมแล้ว วาซาบิสดๆจะมีกลิ่นหอมมากและไม่ฉุนขึ้นจมูกเท่าอย่างหลอด ถึงตรงนี้นึกย้อนกลับไปถึงตอนเดินเข้าร้านอาหารญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผ้าม่านปิดอยู่ด้านบนของประตูทางเข้าร้าน ถ้าร้านไหนผ้าม่านอยู่ต่ำกว่าระดับศีรษะของเรา สำหรับร้านที่มีผ้าม่าน 4 ชิ้น ตอนเดินเข้าให้ใช้หลังมือป้ายไปที่บริเวณเหนือมุมด้านซ้ายของผ้าม่านชิ้นที่ 3 นับจากทางซ้ายสุดแล้วผลักออกจากตัว ก้มศีรษะเล็กน้อยแล้วเดินเข้าไป ส่วนบางร้านจะมีผ้าม่านปิดอยู่แค่ 2 ชิ้น ก็ให้ผลักผ้าม่านด้านขวาเข้าไป นอกจากการกินแล้วยังมีธรรมเนียมการรินเครื่องดื่มให้กันด้วย กล่าวคือถ้าไม่มีคนเสิร์ฟรินให้ ก็ควรที่จะรินให้ผู้อื่นและผลัดกันรินให้กัน การรินให้ตัวเองถือว่าเป็นการไม่สุภาพ 


                        


      ในระหว่างที่กินอาหาร  ควรพูดว่า โออิชิ (Oishii) ซึ่งแปลว่าอร่อย อยู่บ่อยๆ  เพื่อชมคนทำอาหารและถือเป็นการขอบคุณด้วย  และตามมารยาทของคนญี่ปุ่นแล้ว  ควรจะกินข้าวให้หมดชาม ถ้าเป็นอาหารชุดก็ควรจะกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนหมดสิ้น อาหารชุดจะต้องวางถ้วยข้าวไว้ด้านซ้ายมือ และถ้วยซุปไว้ทางขวามือ เพราะถ้าวางสลับเอาถ้วยซุปไว้ซ้าย ถ้วยข้าวไว้ทางขวา จะสำหรับผู้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าถ้วยซุปไม่มีช้อนให้ ก็ต้องยกมือประคองถ้วยขึ้นมาแล้วกินน้ำซุปจากถ้วยเลยมาว่ากันต่อเรื่องการใช้ตะเกียบ เพื่อนลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นเคยสอนไว้ว่าการวางตะเกียบนั้นต้องให้วางบนที่วางและให้ปลายตะเกียบหันไปทางซ้ายมือเสมอ ซึ่งปิ่นโตเถาเล็กเป็นคนถนัดซ้ายก็ยังต้องหันปลายตะเกียบไปทางซ้ายเลย ถึงจะไม่สะดวกก็ต้องยอม การคีบอาหารส่งกันไปมาทางตะเกียบถือเป็นข้อห้าม คือคีบส่งให้แล้วเพื่อนคีบรับด้วยตะเกียบ ทั้งนี้ก็เพราะเป็นวิธีการที่ใช้กันในพิธีศพของญี่ปุ่น  ซึ่งมีการคีบกระดูกคนตายส่งและรับต่อๆกันด้วยตะเกียบ ส่วนจะคีบอาหารแล้ววางบนจานให้คนอื่น เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ต้องกลับเอาปลายตะเกียบด้านบนที่ไม่ได้ใส่เข้าปากมาคีบให้แทน รวมไปถึงเวลาคีบอาหารจากจานกลางให้ตนเองด้วย การปักตะเกียบลงในชามข้าวถือเป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างยิ่ง เพราะมีธรรมเนียมการปักตะเกียบลงในชามข้าวที่หัวนอนของคนตาย การใช้ตะเกียบดันหรือเลื่อนภาชนะ การใช้ตะเกียบจิ้มหรือเสียบอาหาร หรือส่ายตะเกียบไปมาโดยลังเลว่าจะคีบชิ้นไหนดี และการใช้ตะเกียบชี้คนหรือโบกไปมาเหนือจานอาหาร ถือเป็นมารยาทที่ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น
 
  
      สิ่งเหล่านี้คือมารยาทเบื้องต้นในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ฟังดูเป็นเรื่องยากที่จะจดจำทำตาม แต่รับรองว่าเมื่อถึงตอนกินข้าวที่มีอาหารญี่ปุ่นอร่อยๆอยู่ข้างหน้าแล้ว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องเล็กไปทีเดียว ก็โออิชิมากๆนี่นา
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น